31th Century Museum of Contemporary Spirit: Inner World

Language : ENGLISH : THAI

 

INNER WORLD

 

โลกภายใน (Inner World)

โลกเป็นอย่างที่มันเป็นตามธรรมชาติ เรามองโลกอย่างที่เราเป็นทำให้เราเข้าใจว่าโลกกลายเป็นอย่างที่เราเป็น เราเป็นอย่างที่เรากระทำการกระทำต่างๆเกิดจากความเชื่อหรือความคิดที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกจากธรรมชาติภายในตัวเองเช่น ความต้องการทางเพศ ความหิว ความกลัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความเมตตา ฯลฯ สองสิ่งนี้ (ความคิดและความรู้สึก) เป็นส่วนผสมทำให้เราแต่ละคนมีโลกภายในไม่เหมือนกัน

ชีวิตมีสองส่วนประกอบกันคือโลกภายในกับโลกภายนอก โลกภายในคือประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน มีกาละและเทศะ (space and time) ที่แตกต่างกัน ส่วนนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานของแต่ละคนในการตีความหมายสิ่งที่ปรากฏภายนอก นั่นเป็นเหตุผลให้เรามองปรากฏการณ์ (โลกภายนอก) หรือความจริงแตกต่างกัน ความจริง (Truth) คือการตีความตามประสบการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นร่วมกับประสบการณ์ภายในของแต่ละคน และนั่นเป็นที่มาของการมองโลกในมุมที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนร่วมกับกฎเกณฑ์ มุมมองข้อจำกัดทางสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป

ในพื้นที่นี้ ข้าพเจ้าต้องการรวบรวมประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้น หรือพบเจอ และได้กระตุ้นเตือนให้เกิดความเข้าใจหรือเห็นมุมมองที่แตกต่างกันออกไปจากสิ่งคุ้นชินเดิม ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าได้ตระหนักรู้ถึงความเป็นจริงตามอย่างที่มันจะเป็นไม่ใช่อย่างที่อยากให้มันเป็น โดยทำความเข้าใจในมุมมองและมิติที่แตกต่างออกไปจากมิติส่วนตน คล้ายกับการพิจารณาหรือการวิพากษ์ตัวตน (self-critic) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองเหตุการณ์ใดเหตุการหนึ่งจากความชอบและชังหรือในมุมมองที่ได้และเสียผลประโยชน์ส่วนตัวจากเหตุการณ์นั้น เราก็จะมองด้วยทัศนคติที่เป็นอคติ แต่เมื่อเราพิจารณาเหตุการณ์เดียวกัน แต่มองในฐานะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติทั้งหมด การมองในมุมมองเช่นนี้จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามอคติส่วนตัวและจะทำให้เรามีมุมมองในการมองโลกแห่งปรากฏการณ์ภายนอกใกล้เคียงความจริงตามวิถีธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันและลดช่องว่างความขัดแย้งที่มีอยู่ได้

ปรากฏการณ์ต่างๆรวมทั้งภัยวิบัติที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกภายนอกได้โดยตรงเพราะนั้นเป็นวิถีทางธรรมชาติ จนกว่าเราจะเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกภายในตัวเรา นั่นก็คือ การก้าวข้ามอคติส่วนตัวในการมองแล้ว ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของโลกภายนอกตามธรรมชาติอย่างที่มันเป็นไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้มันเป็น ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิธีนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในการลดปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะจุดเริ่มของปัญหาทั้งหมดอยู่ในการรับรู้และตีความหมายข้อมูลที่ได้รับออกมาใกล้เคียงกันตามความเป็นจริง การปรับมุมมองและวิธีคิดโดยการมองโลกทั้งหมดเป็นศูนย์กลาง จะทำให้เรามองเห็นปัญหาในองค์รวมทั้งหมดรอบด้านและสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นๆได้อย่างตรงประเด็น แต่ถ้าเรามองโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราก็จะมองโลกภายนอก (ปรากฏการณ์ความจริงภายนอก) ต่างกัน และทำให้ข้อมูลที่ได้รับแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ทำให้เข้าใจไม่ตรงกันก็ไม่อาจจะหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา

คามิน เลิศชัยประเสริฐ
4 กันยายน 2556

 

Universal Connection Documentary 2017 ( Spiritual Fractal) by Pete and Kamin Lertchaiprasert

เบนนัว เมนเดลบรอท (Benoit Mandelbrot) นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบ Fractal Geometry (1980)เขาค้นพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติมีโครงสร้างที่เป็นระบบ fractal ไม่ว่าร่างกาย เส้นเลือด DNA แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ เมฆ คลื่น สิ่งเหล่านี้มี fractal เหมือนกันหมด ซึ่งก็คือ Self Similarity เป็นการซ้ำตัวมันเอง ทุกอย่างมีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน เป็นอินฟินิตี้ ในกรณีนี้พูดถึง Fractal ทางกายภาพ มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำเรื่อง universal connection by spiritual fractal

จิตใจ จิตวิญญาณ หรือ ความรู้สึกก็เปรียบได้กับ Fractal Geometry แต่ในที่นี้ผมขอเรียกว่า Spiritual Fractal จากประสบการณ์ของผมในการปฏิบัติวิปัสสนาทำให้ผมเห็นรอยต่อระหว่างจิตใจและร่างกาย(ภายในและภายนอก) ว่ามันต่อเนื่องกันได้อย่างไร ในความที่เป็นนามธรรมกลายมาเป็นรูปธรรม และจากความรู้สึกนึกคิดกลายมาเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องจนกลายมาเป็นวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมได้อย่างไรจากความเข้าใจนี้นำมาแสดงออกในรูปแบบแอนิเมชั่น (Animation) และ Multi media เป็นการ wraping ทั้งภายในและภายนอกรถไฟฟ้า BTS

สัญลักษณ์ Fractal ที่ใช้จะเป็นรูปทรงกลมๆ เมื่อเราซูมอินเข้าไปปกติก็จะซูมบริเวณ out side ตัวขอบของ Fractalไม่ได้การซูม in side เปรียบเทียบก็เหมือนการดูที่ภายนอกร่างกายไม่ใช่ภายในจิตใจ แต่ข้างในต่างหากที่เราสงสัยว่าคืออะไร จิตใจมาจากไหน วิญญาณมาจากไหน อารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ความเมตตามาจากไหน และอะไรคือรอยต่อของร่างกายกับจิตใจ ธรรมชาติไม่ได้มีแค่รูปธรรม แต่มันมีความเป็นนามธรรมด้วย ในส่วนนี้ผมขอเรียกว่า spiritual fractal

ตัวอย่างเช่นเมื่อเราซูมเข้าไปในความมืดก็จะมีความสว่าง เหมือนดั่งในอวกาศก็จะมีดวงดาวในความมืด และในนั้นก็มีพลังงานขั้วบวกขั้วลบผมก็แทนค่ามันด้วยหยินกับหยาง เป็นสภาวะทวิลักษณะ กลางวันกลางคืน สุขกับทุกข์ ดีกับเลวและเราจะเข้าใจมันได้อย่างไร ปกติเวลาเรานั่งแล้วขาปวดความทุกข์เกิดเราก็จะขยับผลักออก เวลาเรามีความสุขเราก็อยากยึดมั่น ในชีวิตจริงของเราก็เหมือนกัน เวลาที่เราทำอะไรบางอย่าง พอเราชอบก็อยากจะทำต่อ พอเราไม่ชอบก็อยากจะหนี สิ่งเหล่านี้สะสมมากๆ ก็จะกลายเป็นความเคยชินเป็นนิสัย กลายเป็นสันดาน เป็นตัวการควบคุมชะตาชีวิตของเราว่าจะเป็นอย่างไร แต่การที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือสันดานของเราก็ต้องกลับเข้าไปที่การปฎิบัติวิปัสสนา ทำจิตให้เป็นอุเบกขามีสภาวะที่เป็นกลางก็จะเห็นเวทนาการเกิดดับของกายกับจิตตามธรรมชาติตลอดเวลา พอจิตเห็นธรรมตรงนี้บ่อยๆ จิตจะสร้างจิตสำนึกใหม่ที่ไม่ยึดติด และเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ เราจะเข้าใจว่าตนตัวที่แท้จริงไม่มีอยู่ ทุกสิ่งเป็นเพียงสภาวะของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำหรับผมการเกิดขึ้นของอุปนิสัย หรือทัศนคติ เกิดจากพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ มันคล้ายกับการเกิด fractalที่เกิดจากการซ้ำตัวมันเอง(Self Similarity)

สภาวะที่ไม่มีตัวเราของเรา ไม่มีกาลเวลา คือจุดเชื่อมต่อระหว่างกายภาพกับจิตวิญญาณหรือรูปธรรมกับนามธรรมคืออุเบกขา ได้ปรากฎออกมาในรูปแบบของความบริสุทธิ์เช่นการแสดงความรักหรือเมตตาช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทนสิ่งเหล่านี้ช่วยละลายเส้นแบ่งระหว่างความเป็นตัวเรากับคนอื่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน (oneness) ในความเป็นหนึ่งเดียว ธรรมชาติต้องการจะสื่อกับเราว่าเราคือสังคมและสังคมเริ่มต้นที่ตัวเรา ปัญหาทุกอย่างในสังคมจะถูกแก้ เมื่อเราทำทุกอย่างเพื่อสังคมเหมือนกับที่เราทำเพื่อตัวเราเอง คนเราทุกคนต้องพึ่งพากันและก็เป็นอิสระจากกัน

๑๔ เมษายน ๒๕๖๐

 

The Timeless Present Moment Exhibition @ MAIIAM Contemporary Art Museum

 

คามิน เลิศชัยประเสริฐ
ความว่าง ไม่ใช่สภาวะจิตแต่เป็นแก่นของจิต

คำพูด ไม่ใช่สิ่งที่พูดถึง
ความคิดไม่ใช่สิ่งที่คิด
เมื่อเข้าใจความต่างในความเหมือน
และเข้าใจความเหมือนในความต่าง
จะเกิดความไม่ยึดมั่นตัวตนเป็นศูนย์กลาง
และไม่แบ่งแยก
การเห็นความเป็นปัจเจกในทั้งหมด
และเห็นทั้งหมดในความเป็นปัจเจก
จะเกิดความเคารพคุณค่าภายในตนเอง
และจะเกิดความเคารพคุณค่าภายในผู้อื่นเช่นกัน
การเฝ้าดูโดยไม่ตัดสินไม่เลือกไม่เปรียบเทียบ
จะเกิดความเข้าใจเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็นตามธรรมชาติ
และเห็นความจริงความดีความงามในทุกสิ่ง
เพราะทุกสิ่งคือความจริงความดีความงามอย่างที่มันเป็นตามธรรมชาติ
นี่คือศิลปะของชีวิต
“ศิลปะ” เป็นกระบวนการเรียนรู้จักตนเอง สังคมและธรรมชาติ

innerbook

ดาวน์โหลด e-Book

 

LINK To.. Inner World Projects

 

 

inner-world

 

©31century.org | Web Site Represented