Our Story

Language : ENGLISH : THAI

31 Century Old Logo

 

พิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัย แห่งศตวรรษที่ 31
(31st Century Museum of Contemporary spirit)

เมื่อวัยเด็กความสุขอย่างหนึ่งของข้าพเจ้าคือการได้เฝ้าดูท้องฟ้าและดูก้อนเมฆ มันเหมือนกับงานประติมากรรมที่มีชีวิตที่ธรรมชาติสร้างขึ้น มีรูปร่างต่างๆ มากมายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางเวลามันก็จะจับตัวกันเป็นเมฆก้อนใหญ่สีดำ แล้วกลายเป็นฝนตกลงมา ในวัยนั้น ข้าพเจ้ามักจะออกไปวิ่งเล่นท่ามกลางสายฝนอย่างมีความสุข สนุกสนาน โดยไม่คิดกังวลว่าจะตัวเปียก เป็นหวัด หรือไม่สบาย และข้าพเจ้าสงสัยมากว่า ก้อนเมฆมันเกิดจากอะไร? กลายเป็นฝนได้อย่างไร? และมันจะลอยไปที่ไหน?

เช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์แห่งศตวรรษที่ 31 เปรียบเสมือนก้อนเมฆที่เกิดจากน้ำ ที่ถูกแสงแดดแผดเผา ระเหยกลายเป็นไอน้ำและไปรวมตัวกันกลายเป็นก้อนเมฆแล้วเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสถานที่หรือสภาวะแวดล้อม ในที่นี้มันไม่ใช่เพียงแค่ตู้คอนเทนเนอร์เจ็ดแปดตู้มารวมตัวกันเป็นเลขสามสิบเอ็ดและบรรจุ “หลักฐาน” เกี่ยวกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ในนั้น หรือ คนสองสามร้อยคนมายืนรวมตัวกันเป็นตัวเลขสามสิบเอ็ด หรือแม้แต่เวบไซต์พิพิธภัณฑ์แห่งศตวรรษที่ 31 ที่ได้จัดทำขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางความคิดที่เกิดจากความสงสัยของข้าพเจ้าในเรื่องคุณค่าทางจิตวิญญาณในการมีชีวิตอยู่ ความหวัง และการเปลี่ยนแปลง โดยความหมายที่แท้จริงของพิพิธภัณฑ์แห่งศตวรรษที่ 31 ที่ข้าพเจ้าต้องการจะสื่อถึง ความหมายของพื้นที่ทางวัฒนธรรมในโลกอนาคตที่มีอยู่ในชีวิตและจิตวิญาณของเราทุกคน ว่าเราทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับสถาบันทางสังคมหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้กำหนดระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของสังคม ดังเช่นปัจจุบันที่เป็นอยู่ ทุกชีวิตมีคุณค่าในแบบเฉพาะปัจเจกบุคคลและในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะเคารพในคุณค่าที่แตกต่างของผู้อื่น

ฝนที่ตกสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ทั่วโลกตลอดเวลาในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน การแสดงออกทางจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ปรากฏออกมาในพฤติกรรมทั่วไป กิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือผลงานทางศิลปะ สามารถเกิดขึ้นได้จากเราทุกคนตลอดเวลาและในทุกสถานที่ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่มากระทบต่อบุคคลนั้นๆ เปรียบเสมือนการแสดงออกถึงคุณค่าของความรัก ความเมตตา ความเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก ที่ปราศจากการคาดหวังเชิงผลประโยชน์มากเกินไป สิ่งเหล่านี้ มันเคยมีอยู่ในเราทุกคน แต่ด้วยเหตุผลบางประการ อาจเป็นความรู้ การศึกษา วัฒนธรรม ศีลธรรม รวมถึงกฎหมายและความเชื่อต่างๆ ในวัยที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันได้ปิดกั้น ความกล้า ความจริงใจ ในการแสดงออก ถึงคุณค่าเหล่านี้ ในการดำเนินชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน จนทำให้พวกเราไม่มีเวลาชื่นชมและวิ่งเล่นท่ามกลางสายฝนอีกเลย

ความบริสุทธิ์ของจิตวิญาณที่เคยมีอยู่ในเราทุกคนในวัยเด็ก ที่ปราศจากความกลัว ความกังวล เต็มไปเสรีภาพของการแสดงออก พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดเวลาอย่างมีความสุข ความเบิกบาน ความตรงไปตรงมา ยังคงมีอยู่จริงหรือ? ในพวกเราที่เป็นวัยผู้ใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า วิถีธรรมชาติดูเหมือนจะโหดร้าย แต่ก็เป็นการเกื้อหนุนกันและกันของสิ่งต่างๆ สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก เมื่ออิ่มแล้วมันก็พอ ไม่ได้สะสม สัตว์อื่นที่เล็กกว่าก็มากินต่อ ทุกสิ่งเกื้อหนุนกันเป็นห่วงโซ่อาหาร แต่ด้วยกิเลสของมนุษย์ ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์ เราได้ทำลายห่วงโซ่อาหารและวิถีธรรมชาติดั่งเดิม เราฆ่ากันไม่ใช่เพราะความหิวหรือความต้องการทางธรรมชาติเพื่อการดำรงอยู่ แต่เพราะกิเลส ตัญหา เราสะสมทรัพย์และอาหารเพื่อความมั่งคลั่ง มั่นคงในอนาคต จนเพื่อนเราอีกมากมายไม่มีจะกินในวันนี้ เราทำสงคราม สร้างอาวุธต่างๆ เพื่อที่จะป้องกันตัวเองจากผู้อื่น และไม่เคยคิดที่จะหยุดสร้างอาวุธ แต่เรากลับออกคำสั่งห้ามให้ผู้อื่นสร้างอาวุธเพื่อป้องกันตัวเขาเอง มนุษย์พูดถึงเรื่องสันติภาพในโลกโดยที่ไม่เคยพยายามสร้างสันติภาพขึ้นในตัวเองก่อน เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นได้ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเราทุกคนแล้ว เพียงแค่ปลุกให้มันตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ความรัก ความเมตตา เสรีภาพในการแสดงออกที่เกิดจากการเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายในตนและผู้อื่นรวมทั้งความกล้าหาญที่จะเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของความรู้ที่มีอยู่ในสังคม

(www.31century.org) ข้าพเจ้าหวังว่าพื้นที่นี้เป็นการรวบรวมไอน้ำที่มีอยู่ในท้องฟ้า ให้มารวมกันเป็นก้อนเมฆ พร้อมที่จะรอคอย แสงแดดและความอบอุ่น ที่มีอยู่ในพวกเราทุกคน ที่จะช่วยทำให้ก้อนเมฆนี้ได้กลายเป็นน้ำฝน และตกลงมาสู่พื้นดินเพื่อหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกใบนี้อีกครั้งหนึ่ง


คามิน เลิศชัยประเสริฐ
13-16 กุมพาพันธ์ 2553

 

our

 

 

Open publication – Free publishingMore 31century
 
©31century.org | Web Site Represented