News

เหนือพ้นอาชีพ

คุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์
Patama Roonrakwit

CASE Community Architects for Shelter and Environment
www.casestudio.info

Language : ENGLISH : THAI

Beyond Profession 12

เมื่อสองปีก่อน ผมไปทานข้าวที่ร้านอาหาร และได้มีโอกาสอ่านนิตยาสารขวัญเรือน มีบทความเกี่ยวกับสถาปนิกสลัม (ปฐมา หรุ่นรักวิทย์) ผมได้เปิดอ่านนิดหน่อยและรู้สึกประทับใจมาก แต่ยังอ่านไม่จบในขณะที่ทานอาหารเสร็จแล้ว จึงยืมทางร้านไปถ่ายเอกสารเอามาเก็บไว้อ่านต่อ บทความนี้แขวนอยู่หน้าโต๊ะทำงานผมทุกวัน เป็นเวลาเกือบสองปี ที่ผมตั้งใจจะติดต่อไปขอนั่งคุยสัมภาษณ์ และทำความรู้จักกับการทำงานของเธอให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยมีโอกาสเลยจนกระทั่ง

18 สิงหา 56 ผมได้มีโอกาสไปประชุมกับศิลปินไทยท่านอื่นๆที่เข้าร่วมเกี่ยวงานที่จะไปแสดงที่ Singapore Bienale ในหัวข้อ If the World Change โดยมี คุณอังกฤษ อัจฉริยะโสภณ เป็นภัณฑารักษ์ ในการประชุมครั้งนี้ หนึ่งในศิลปินผู้เข้าร่วมก็คือคุณปฐมา ซึ่งผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสพบเจอตัวจริง เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง ผมจึงพูดความในใจว่าผมชื่นชมผลงานของเธอมานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เจอ วันนี้ถือเป็นโชคดีที่ได้เจอ และอยากนัดสัมภาษณ์และลงพื้นที่ยังชุมชนแออัดที่เธอทำงานอยู่

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำ มันมากไปกว่างานด้านสถาปัตย์กับชุมชนแต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงสำนึกของชุมชนที่เข้าร่วมทำกิจกรรม และรวมไปถึงเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมอื่นๆที่ได้ยินเรื่องราวหรือเป็นข้อมูลในการศึกษา ทำความเข้าใจถึงโครงสร้างของปัญหาที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ มันเป็นจุดเล็กๆที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆที่โยงใยกัน ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ศีลธรรม กฏหมาย ศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ ทุกสิ่งทุกเรื่องเราสามารถเข้าใจมันได้จากกิจกรรมที่เธอทำ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถทำความเข้าใจและศึกษาวิธีการทำงานของคุณปฐมาอย่างลึกซึ้งถึงเหตุปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ (สถาปนิกชุมชน) มันจะทำให้เราเข้าใจในต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงทางสังคม (ชุมชนแออัด) รวมไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และศักยภาพที่แท้จริงที่มีอยู่ในเราทุกคนว่าเรามีความสามารถมากมายที่ซ่อนอยู่และสามารถสร้างสรรค์ได้

ปฐมาเริ่มก่อตั้ง CASE (Community Architects for Shelter and Environment) เมื่อ 2540เพื่อทำงานเกี่ยวกับชุมชนแออัดและคนยากจนอย่างแท้จริง โครงการสลัมย่านตลาดเก่ามีนบุรี อยู่ใกล้กับเบริเวณบ้านเธอ เมื่อเจ็ดปีก่อน เธอได้เริ่มกิจกรรมกับเด็กๆและชาวบ้านในละแวกนั้น โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า เราทุกคนแม้ต่างอาชีพ ต่างฐานะ แต่มีคุณค่าในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การทำงานของเธอเริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่่า งานจะสำเร็จ สามารถเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนในชุมชนโดยไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้งในการทำงาน เธอมีความเชื่อที่ว่าเงินศูนย์บาทก็สามารถทำงานให้สำเร็จได้ และนั่นก็คือที่มาของชื่อที่เรียกเธอว่า “สถาปนิกสลัม”

วันรุ่งขึ้น ผมกับอังกฤษไปพบเธอที่สตูดิโอ และเยี่ยมชมโครงการย่านตลาดเก่ามีนบุรี เธอเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน คือชุมชนแออัดบ้านริมน้ำที่จ.สงขลา ผมถามเธอว่ามีเรื่องประทับใจหรือความรู้อะไรที่ได้รับจากการทำงานชิ้นแรก เธอเล่าว่า เมื่อออกแบบและตำแหน่งการสร้างสะพานของชุมชน เธอออกแบบตามวิชาการที่เหมาะสมตามแผนผังชุมชนที่ได้รับมา แต่พอลงพื้นที่จริงชาวบ้านส่วนใหญ่ทักท้วงว่าไม่ควรสร้างตำแหน่งตรงนี้ด้วยเหตุว่า เจ้าของบ้านที่อยู่ตรงตำแหน่งนั้นเป็นคนตระหนี่และรู้ดีว่าหากทำสะพานตรงนั้น เจ้าของที่ดินอาจไม่ให้ผ่าน หรือถ้าผ่านก็จะเก็บเงินค่าผ่านทาง สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า หลักวิชาการที่เธอเรียนมา เมื่อลงพื้นที่จริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกต้องทางวิชาการเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เป็นจริงของวิถีชีวิตชุมชน ดังนั้นบทเรียนที่เธอได้รับคือ การต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการคิดและออกแบบก่อน กระบวนการนี้สร้างสำนึกของความเป็นเจ้าของและความผูกพันที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน

อีกเรื่องที่ผมประทับใจมากคือ ชุมชนแออัดที่ตลาดเก่ามีนบุรี เธอเล่าว่าครั้งแรกที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ พวกเธอจะเป็นคนแปลกแยกและไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน เพราะพื้นที่ที่นี้เป็นพื้นที่บุกรุกของทางราชการ และมีข้อพิพาทกับทางรัฐเป็นเวลาช้านาน จึงไม่ได้รับงบหรือทุนจากทางราชการเลยในอดีต เธอจึงเริ่มด้วยการทำงานกับเด็กๆที่วิ่งตามทีมงานที่สำรวจ ทีมสำรวจตั้งใจจะทำสนามเด็กเล่นให้เด็ก แต่เมื่อถามเด็กๆว่าอยากได้อะไรในพื้นที่นี้ เด็กส่วนมากกลับตอบว่าอยากได้สระว่ายน้ำ ซึ่งทำให้ทุกคนแปลกใจและเป็นไปได้ยากเพราะไม่มีงบประมาณเลย แต่เมื่อทำความเข้าใจกับเด็กๆ กลับพบว่า สระว่ายน้ำในความคิดของผู้ใหญ่ (ทีมงาน)กับเด็กๆมีความต่างกัน คุยกันไปเรื่อยๆแล้วพบว่าขนาดสระว่ายน้ำที่เด็กต้องการคือขนาด 3 x 5 เมตร เป็นบ่อน้ำย่อมๆเอง หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มสร้างสระว่ายน้ำด้วยแรงงานจากเด็กๆ ผู้ปกครอง อาสาสมัครทั้งนักศึกษาสถาปัตย์ไทยและต่างประเทศ คุณปฐมาบอกว่า โชคดีมากที่ทางเข้าหมู่บ้านเป็นสะพานเล็กๆข้ามคลอง รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ ทุกอย่างจึงอาศัยคนขนข้ามมา สิ่งที่ผมและคนส่วนใหญ่คงคิดว่าการที่รถยนต์ไม่สามารถเข้ามาได้เป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรค แต่ในทัศนคติของคุณปฐมากลับมองว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการทำกิจกรรมครั้งนี้ เพราะทำให้เกิดความสามัคคีช่วยสร้างสำนึกในการมีส่วนของคนในชุมชน

จากสนามเด็กเล่นสู่สระว่ายน้ำ กลายมาเป็นสนามฟุตบอล ซึ่งเด็กผู้ชายจะชื่นชอบ แต่เด็กผู้หญิงไม่อยากเล่นฟุตบอล แต่ต้องการห้องสมุดสำหรับทำการบ้านตอนเย็นและเป็นที่อ่านหนังสือ จึงเกิดเป็นห้องสมุดชุมชนขึ้น และหลังจากนั้นก็มีโรงเก็บเครื่องมือชุมชน ฯลฯ ทุกๆปีช่วงเวลาปิดเทอมสามเดือน เธอและนักศึกษาของเธอ รวมทั้งเด็กๆและชาวบ้านในชุมชนจะกลับมารวมตัวกันซ่อมแซม สร้าง หรือพัฒนาบางอย่างที่ชุมชนต้องการ จากจุดนี้ จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมตัวและสร้างสาธารณะประโยชน์ด้วยตัวพวกเขาเอง โดยที่ไม่ต้องรอช่วงปิดเทอม เช่นการสร้างสะพานใหม่ ยกระดับถนนให้สูงขึ้นช่วงน้ำท่วมด้วยการเทพื้นซีเมนต์ เป็นต้น

ผมรู้สึกประทับใจมากกับการที่ได้มาเยี่ยมชมชุมชนตลาดเก่ามีนบุรีวันนี้ ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนว่าหัวใจของมันอยู่ที่การสร้างสำนึกให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความสามารถที่มีอยู่ในตนเอง และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและปฏิบัติร่วมกัน สิ่งเหล่านี้สร้างสำนึกในการเป็นเจ้าของร่วมกัน และนั่นเป็นเหตุผลที่สังคมจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนด้วยสำนึกของการรับผิดชอบร่วมกันของชุมชน และความรู้สึกที่เข้าใจในคุณค่าของชีวิตที่เท่าเทียมกันของทุกคน

ผมถามคุณปฐมาว่า อะไรเป็นสิ่งที่คุณได้จากการทำงานแบบนี้ เธอตอบว่าสนุกดี ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ผมถามต่อไปว่ามันเหมือนงาน NGO หรือเปล่า เธอยืนยันว่าไม่ใช่ งานที่เธอทำเป็นงานสถาปัตย์ ไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์ เป็นงานที่ใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวสื่อสาร เป็นตัวสร้างกระบวนการในการเรียนรู้ ทั้งกับลูกค้าที่เป็นชาวบ้านเอง แล้วกับเราซึ่งเป็นสถาปนิกด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคิดว่า สิ่งที่เธอทำ มันมากไปกว่างานด้านสถาปนิกและงานด้านสังคมสงเคราะห์ มันเหนือพ้นอาชีพแต่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และเป็นแบบอย่างแห่งการสร้างสรรค์ตลอดทั้งกระบวนการ ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าความรักความเมตตาที่บริสุทธิ์ไม่ปรากฏขึ้นในจิตใจของผู้ทำ

 

คามิน เลิศชัยประเสริฐ
20 สิงหา 56

Share Published on Sep 10, 2013 at 9:22 pm.
Filled under: News
No Comments

You must be logged in to post a comment.