ความเป็นนานาชาติในศิลปกรรมร่วมสมัย

Art Academic Seminar of ASEAN Countries:

Roles of Art in ASEAN Contemporary Context

1-3 กุมภาพันธ์ 2555
หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ความเป็นนานาชาติในศิลปกรรมร่วมสมัย (ความเหมือนในความแตกต่างและ ความแตกต่างในความเหมือน)
ก่อนอื่นเราควรจะมาทำความเข้าใจร่วมกันในความหมายของ คำว่าความเป็นนานาชาติและคำว่าศิลปกรรมร่วมสมัยกันก่อนให้มีความหมายตรงกัน?

สำหรับผมคิดว่าความเป็นนานาชาติมีสามความหมาย

ความหมายที่หนึ่ง ความเป็นสากลที่เป็นจุดร่วมระหว่างความแตกต่างทาง วัฒนธรรม ได้แก่ ความเป็นสากลแบบตัวแทนกลุ่มเช่นศิลปินที่ถูกยอมรับและเป็นที่รู้จักใน ระดับนานาชาติ แต่ในที่นี้ผมอยากจะหลีกเลี่ยงการอธิบาย เพราะมันเป็นเรื่องที่มีความ สัมพันธ์ เกี่ยวกับปัจเจกที่มาจากโครงสร้างของปัจจัยต่างๆในโลกศิลปะเช่น การตลาด การ ประชาสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่แต่ละคนมี และอื่นๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องการเมืองในโลก ศิลปะ แต่ก็ไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่ประสบความสำเร็จจะเป็นเหมือนกัน

ความหมายที่สอง ความเป็นสากลความเหมือนในความแตกต่างที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ปรากฎอยู่ในศิลปะเด็กเช่นในงานศิลปะเด็กทุกคน ทุกวัฒนธรรม ทุกชาติ จะมีรูปแบบการแสดงออกอย่างบริสุทธ์อิสระและมีความตรงไปตรงมาเหมือนๆกัน ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ขึ้นอยู่กับลัทธิทางศิลปะ

ความหมายที่สาม คือ ความเป็นนานาชาติในความเป็นเอกลักณษ์เฉพาะที่มีอยู่ในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่นเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติอย่างเช่น ศิลปะไทย ญี่ปุ่น จีน อเมริกา ยุโรปหรือแอฟริกา ก็จะมีรูปแบบความแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิตความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละสังคม

คำถามต่อมาก็คือ ความเป็นสากลที่เป็นจุดร่วมระหว่างความแตกต่างทาง วัฒนธรรมคืออะไร? และคำถามที่สองคือ คุณค่าของเอกลักษณเฉพาะตัวคือความเป็นสากลใช่หรือไม่?

วัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีที่มาจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ส่งผลถึงพัฒนาการในการปรับตัวแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อการดำรงอยู่และปรากฎออกมาในความคิด ความเชื่อจนกลายมาเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละสังคม ทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความแตกต่างทางปัจจัยภายนอกเท่านั้น แต่ปัจจัยภายในก็
ยังคงมีความเหมือนกันนั้นก็คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในเราทุกคนทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติวัฒนธรรมอะไรและนับถือศาสนาอะไรมีชนชั้นอย่างไร เราต่างก็เหมือนกันคือเรามีความสุขความทุกข์ ความรัก ความเมตตา ความเห็นแก่ตัวเหมือนกันฯลฯ เป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคนทุกสังคมทุกยุคสมัย

จากความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ของนานาชาติ แต่เรามีปัญหาร่วมกันนั้นก็คือปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษทั้งในน้ำและอากาศและภัยธรรมชาติ ที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคน รวมทั้งปัญหาด้านเศษฐกิจความยากจนการขาดแคลนอาหารโรคติดต่อและสงครามที่เกิดขึ้นเกือบทุกสังคม ในปัจจุบันมนุษย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้สำเร็จ ไม่ใช่เพราะเราขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาหรือเงินทุน แต่เป็นเพราะเราขาดความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

“ส่วนคำถามต่อมาก็คือศิลปกรรมร่วมสมัยคืออะไร”

ก่อนอื่นผมขออนุญาติทำความเข้าใจร่วมกันก่อน ว่าศิลปะในความหมายของผมคืออะไร ผมเชื่อว่าศิลปะคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจตัวเองและสังคมรวมทั้งธรรมชาติ ถ้าใช้นิยามของผมศิลปกรรมร่วมสมัยก็น่าจะหมายถึงกิจกรรมร่วมสมัยต่างๆที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น เพื่อกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจตัวเองและสังคมรวมทั้งธรรมชาติ และถ้าเป็นเช่นนั้น กิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย, กลุ่มสถาปนิกเพื่อชุมชนหรือคนที่อดอาหารประท้วงความอยุติธรรมของสังคม หรือกลุ่ม NGO ต่างๆ นั้นก็อาจจะกลายเป็นศิลปกรรมร่วมสมัยด้วยใช่หรือไม่? (ready-made Cultural)


(ถ้ากิจกรรมเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจธรรมชาติ วัฒนธรรมและสังคมมิใช่เกิดจากสัญชาติญาณ)  กิจกรรมที่เกิดขื้นในสังคมทั่วๆไป ในชีวิตประจำวันเหล่านี้ มันคงไม่แตกต่างไปจากโถส้วมปัสสวะของ Marcel Duchamp (ready-made object การใช้วัสดุสำเร็จรูปมาเป็นผลงานศิลปะ) หรือ การกวาดถนนและปลูกต้นโอ๊ค 7000 ต้นของ Joseph Beuys (ที่ใช้สังคมมาเป็นประเด็นงานศิลปะเพื่อที่จะให้สังคมดีขึ้น หรือที่เราเรียกมันว่า Social Sculpture) ในโลกศิลปะสมัยใหม่ ส่วนในโลกศิลปะหลังสมัยใหม่ เราก็จะเห็นการร่วมเพศหรือการทำกับข้าวได้กลายมาเป็นศิลปะได้จากผลงานของ Jeff Koons (Pseudo Event ก็คือการสร้างเหตุการณ์จำลอง จากสถานการณ์จริงมาเป็นงานศิลปะ) และ พี่ฤกษ์ฤทธิ์(Relational Aesthetics การเปิดประสบการณ์ผ่านพื้นที่แสดงงานศิลปะ และให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชิ้นงานนั้นๆ)



อะไรคือความแตกต่างระหว่างกิจกรรมในวิถีการดำเนินชีวิตกับผลงานศิลปะร่วมสมัย สำหรับผมแล้วมันไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยทางกายภาพ ถ้าจะมีก็มีอยู่แต่ในความแตกต่างทางความคิดและสติหรือที่เราเรียกมันว่าเจตนา กระบวนการและจุดมุ่งหมายในการกระทำของกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนการเรียนรู้ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของความรู้ในอดีต เพื่อทำความเข้าใจในธรรมชาติ พฤติกรรมอย่างนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้วพร้อมกับมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินเปลี่ยนมาเป็นยุคไฟยุคเหล็กจนมาถึงยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน



นี่คือตัวอย่างหนึ่ง ที่ได้ช่วยให้ผมเข้าใจมากขึ้นในความคิดที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อผมได้มีโอกาศมาที่เมือง Niigata ประเทศญี่ปุ่นและได้เรียนรู้ถึงการแก้ไขปัญหาทางภูมิศาสตร์ซึ่งน่าประทับใจมากของชาวเมืองนี้ Niigata เป็นเมืองชายทะเลมีพื้นดินต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 2.5 เมตรจะมีน้ำท่วมและภัยพิบัติบ่อยมากเพราะมีแม่น้ำสายใหญ่ที่คดเคี้ยวไปมาไหลลงสู่ทะเลสายหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมเมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อนชาวเมืองได้ขุดภูเขาให้เป็นแม่น้ำทางลัดให้ลงสู่ทะเลอีกเส้นทางหนึ่ง และขุดแม่น้ำลอดใต้แม่น้ำอีกชั้นหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและประมาณ 50 กว่าปีก่อนได้มีการสร้างเขื่อนขนาดเล็กพร้อมกับเครื่องสูบน้ำ 40 กว่าแห่งเพื่อสูบน้ำออกตลอดเวลา 24 ชั่วโมงจนปัจจุบันปัญหาน้ำท่วมเมืองก็หมดไป


สำหรับผมแล้วการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานี้ ทำให้ผมเข้าใจถึงคุณค่าและความหมายที่ซ่อนอยู่ในความแตกต่าง และความเหมือนกันทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ กระบวนการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในธรรมชาติในการแก้ไขปัญหามันไม่แตกต่างอะไรกับผลงานศิลปะเลยที่เดียว ทำให้ผมนึกถึงโครงการที่นา the land project (Sitespecifc ศิลปะที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่) จากความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับ พื้นที่ที่ไม่มีความเป็นเจ้าของ เป็นการสร้างพื้นที่ทดลองแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างๆ



ทุกศาสตร์มีความแตกต่างแต่ก็มีความเหมือน ในกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจตัวเอง สังคมและธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในศาสตร์แต่ละศาสตร์อยู่แล้ว อย่างในกรณีแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ Muhammad Yunus นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2006 เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจน ได้พูดเรื่องทฤษฎี ไมโครเครดิต (การให้เงินกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกับคนจน) และ วิจารณ์ความบกพร่องของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่ายังไม่ได้รับการท้าทาย ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งเป็ศูนย์กลางในกรอบการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด เป็นทฤษฎีที่ไม่สมบูรณ์ ทฤษฎีนี้มองมนุษย์เป็นผู้บริโภคหรือไม่ก็เป็นแรงงาน ดังนั้นจึงละเลยศักยภาพของปัจเจกที่เป็นผู้ประกอบการที่จ้างตัวเอง (self-employed) การแบ่งขั้วคนออกเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) กับแรงงาน (laborer) มองข้ามความคิสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มของมนุษย์แต่ละคนและมองว่าการทำงานแบบ “จ้างตัวเอง” ของประชาชนในโลกที่สามเป็นอาการของความด้อยพัฒนา (อ้างอิง: นายธนาคารเพื่อคนจน VERS UN MONDE SANS PAUVRETE เขียนโดย Muhammad Yunus แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล หน้า: 170-171)



จากความคิดเรื่องไมโครเครดิตทำให้ผมนึกถึงโครงการ 31st Century Museum of Comtemporary Spirit. ร่างกายคือพิพิธภัณฑ์จิตวิญาณคือศิลปะ (life-specifc คือศิลปที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับจิตวิญาน) ในเรื่องของไมโครยูโทเปีย (การเคารพในคุณค่าที่มีอยู่ในมนุษย์เราทุกคน) ซึ่งต่างจากความเชื่อกระแสหลักที่เรามักจะให้การยอมรับในคุณค่าของผลงานศิลปกรรมจากการถูกยอมรับในมูลค่าและจากสถาบันในโลกศิลปะก่อน และละเลยคุณค่าที่มีความเป็นส่วนตัวที่มีความหมายเฉพาะบุคคล ยกตัวอย่างงานศิลปะเด็กเราต่างยอมรับว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณสูงแต่เราไม่ให้มูลค่าและการยอมรับเท่ากับงานของศิลปินอย่างปิกัสโซ่ เป็นต้น



มนุษย์เป็นอีกตัวอย่างที่ดีที่สุด ในการใช้อธิบายถึงความเป็นนานาชาติและความเป็นศิลปกรรมร่วมสมัย เช่นเราทุกคนมีส่วนประกอบใบหน้าเหมือนกันเช่นมีตา หู จมูก ปาก แต่ใบหน้าเราไม่เหมือนกันเลยแม้แต่ฝาแฝดหรือลายนิ้วมือและ DNA ที่เรามีกันทุกคนแต่ก็ไม่เหมือนกันเลย ในความเหมือนเรามีความแตกต่างและในความแตกต่างเราก็มีความเหมือน นี้ก็คือคุณสมบัติที่ดีของศิลปะนั้นก็คือความมีเอกลักษณะเฉพาะตัว

ไม่มีอะไรดีกว่าไม่มีอะไรเลวกว่าไม่มีอะไรเท่ากัน
เพราะนี้คือความเป็นสากล

การเข้าใจถึงความมีเอกลักษณะเฉพาะตัวที่มีอยู่ในเราทุกคนนี้เอง ที่จะช่วยสอนให้เรารักและเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในตนเอง และขณะเดียวกันเราก็จะเริ่มเรียนรู้ที่จะรักและเคารพในคุณค่าของเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในความแตกต่างของผู้อื่น และนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเชื่อว่าเอกลักษณะเฉพาะตัวก็คือความเป็นสากลที่เป็นจุดร่วม ระหว่างความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเป็นหัวใจสำคัญของคุณค่าในความเป็นศิลปกรรมร่วมสมัย

คามิน เลิศชัยประเสริฐ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๕

©31century.org | Web Site Represented